เวทีจริยธรรมโลกที่เจนีวา
สัปดาห์นี้ ผมเดินทางมาร่วมประชุมเวทีจริยธรรมโลก หรือ Global Ethics Forum 2012 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2555 โดยใช้ชื่อธีมว่า ‘The Value of Values in Responsible Business’
การประชุมเวทีจริยธรรมโลกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2552 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ในกรุงเจนีวา โดยมีวิทยากรนำการประชุมจากทั่วโลกจำนวน 37 ท่าน และครั้งที่สอง เมื่อปี 2554 ที่กรุงเจนีวาเช่นเดียวกัน ในครั้งนี้มีวิทยากรเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หรือราว 68 ท่าน สำหรับครั้งที่สามนี้ มีผู้ที่ตอบรับเข้าร่วมเป็นวิทยากรหลักถึง 79 ท่าน
เวทีจริยธรรมโลก เป็นโครงการที่มิใช่มีเพียงการจัดประชุมประจำปี แต่มีการดำเนินงานต่อเนื่องใน 4 กิจกรรมหลัก คือ การประชุม การวิจัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดทำเอกสารเผยแพร่ โดยมีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้เกิดวงสนทนาในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เพื่อค้นหาทางออกหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ ของภาคธุรกิจและภาคีที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของกิจการ (Corporate Responsibility) อย่างสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม
ผมได้มีโอกาสรู้จักกับ Prof. Dr. Christoph Stückelberger ผู้อำนวยการและเป็นผู้ก่อตั้ง Globethics.net ซึ่งเป็นแม่งานจัดประชุมเวทีจริยธรรมโลก เมื่อครั้งที่มาเชื้อเชิญให้ไปเป็นวิทยากรร่วมอภิปรายในการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่อง “Globalization for the Common Good” ในหัวข้อ “Ethical Investments for a Sufficiency Economy” ที่มหาวิทยาลัย California Lutheran ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้น เป็นการร่วมอภิปรายถึงประเด็นการลงทุนเชิงจริยธรรมกับเศรษฐกิจพอเพียงในมุมมองของศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม
ในการประชุมคราวนี้ ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในประเด็นการเงินที่ยังยืน (Sustainable Finance) โดยจะอภิปรายในหัวเรื่อง “The Time Horizons of Sufficiency Strategy in Dealing with Economic Recovery” ซึ่งจะเป็นการนำเสนอมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียงกับนโยบายการเงินต่อการฟื้นฟูและรับมือกับภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ร่วมกับผู้อภิปรายจากเยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เนื่องจากการประชุมเวทีจริยธรรมโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นถัดจากการประชุม Rio+20 มาสัปดาห์เดียว เจ้าภาพจึงจัดให้มีการอภิปรายหลัก (Plenary Panel) ในหัวข้อ ‘Managing the Sustainability Crisis: Next Steps after Rio+20’ ที่วิพากษ์ถึงผลลัพธ์ที่เดินทางไปไม่ถึงความคาดหมายของการประชุม Rio+20 แบบสดๆ ร้อนๆ ในแง่มุมของการแปลงสภาพเชิงจริยธรรม (Ethical Transformation) ของภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคสังคม
อีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ‘Business Schools with a new Paradigm of Sustainable Global Responsibility’ ซึ่งนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2550 แวดวงการศึกษาด้านการบริหารจัดการทั่วโลก ถูกกดดันให้มีการปรับรื้อตัวแบบและค่านิยมใหม่ ที่สะท้อนถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบของนักบริหารอย่างจริงจัง ความริเริ่มในโครงการ 50+20 ซึ่งได้มีการนำเสนอในการประชุม Rio+20 ด้วยความร่วมมือขององค์กรสำคัญอย่างเช่น World Business School Council for Sustainable Business (WBSCSB), Globally Responsible Leadership Initiative (GRLI), และ Principles for Responsible Management Education (PRME) จะถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการอภิปรายในเวทีจริยธรรมโลกครั้งนี้ด้วย
ส่วนหัวข้ออภิปรายอื่นๆ ในเวทีนี้ อาทิ การแก้ปัญหาสถานการณ์เชิงจริยธรรมในธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ในกลุ่มประเทศในแอฟริกาที่พูดภาษาฝรั่งเศส (Francophone Africa) สื่อสังคมออนไลน์กับการแปรรูปและสันติภาพ ฯ โดยหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ทางผู้จัดงานคงจะมีการจัดทำรายงานสรุปผลการประชุมเผยแพร่ให้ได้ติดตามกันในเร็ววัน
สำหรับผู้ที่สนใจการประชุมเวทีจริยธรรมโลก ประจำปี 2555 สามารถติดตามจากลิงค์ http://bit.ly/gef2012 ได้ตามอัธยาศัยครับ
[Original Link]