Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

ดีแทคสนับสนุนเปิดขุมปัญญา เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก


ดีแทคร่วมสนับสนุนการจัดทำบทความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก เฟ้นหานักคิด นักวิชาการที่มีชื่อเสียงชาวต่างประเทศ 13 คน มาทำการสัมภาษณ์พูดคุยแลกเปลี่ยนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดและมุมมองสากล

นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักสำนึกรักบ้านเกิดบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่าเป็นนโยบายตั้งแต่ต้นของนายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการและกลุ่มเทเลนอร์ผู้ถือหุ้นใหญ่ในดีแทคที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยดีแทคเข้าไปสนับสนุนการจัดทำบทความชุด เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก (Sufficiency Economy in Global View) จำนวน 12 ตอน ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินโครงการจัดทำแผนที่เดินทาง (Road Map) และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ

โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม และสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้เฟ้นหานักคิด นักวิชาการ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวต่างประเทศ จำนวน 13 คน มาทำการสัมภาษณ์พูดคุยแลกเปลี่ยนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดและมุมมองสากล และนำมาเผยแพร่โดยได้รับการสนับสนุนจากดีแทค และบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

จากวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ในสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลต่อตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย จนกระทั่งทางการสหรัฐฯต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไข มาจนถึงเดือนกันยายน ปี 2551 เลห์แมน บราเธอร์ส ได้ประกาศล้มละลาย หลังจากที่ เมอร์ริลลินช์ ขายกิจการให้แก่ธนาคารอเมริกา รวมถึงกรณีของ เอไอจี ก็ประสบกับวิกฤตการเงินอย่างร้ายแรง และสถานการณ์ในเวลานี้ได้ลุกลามไปยังตลาดการเงินทั่วโลก จนรัฐบาลในหลายประเทศต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นด้วยการรับประกันเงินฝากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ทำให้ต้องหันกลับมาพิจารณาทบทวนกันใหม่ทั้งในประเด็นการลงทุนใช้จ่ายเกินตัวของภาคประชาชน ที่ก่อให้เกิดหนี้สินที่ไม่สามารถชำระคืนได้ ประเด็นความละโมบของภาคธุรกิจที่ต้องการตัวเลขรายได้อย่างไม่พอประมาณ และไม่สมเหตุสมผล ก่อให้เกิดการล่มสลายของกิจการ แม้ธุรกิจเหล่านี้จะตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีอยู่แล้วก็ตาม และประเด็นความหละหลวมในการกำกับดูแลของภาครัฐ เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันในระบบเศรษฐกิจพังทลายลง เกิดความเสียหายที่มีมูลค่าจำนวนมากมายมหาศาล และยังกลายเป็นวิกฤตความเชื่อมั่นต่อสถาบันในระยะยาว

ประเด็นดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับหลักความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเอ่ยอ้างถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกันอีกคำรบหนึ่ง แต่ในหนนี้ จะเป็นการกล่าวถึงเศรษฐกิจพอเพียงจากปากของนักคิด นักวิชาการ และบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวต่างประเทศ ที่ได้แสดงทัศนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในโอกาสต่างๆ ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมอยู่ในที่เดียวกันเป็นครั้งแรก จำนวน 13 คน 12 บทความ ประกอบด้วย

1. ศ.ดร.วูล์ฟกัง ซัคส์ ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันวุพเพิลทอล เพื่อสภาวะอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ประเทศเยอรมนี พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง เป็นอีกทางเลือกสำหรับทุกประเทศเวลานี้

2. ศ.ดร.ฟรานซ์ ธีโอกอตวอลล์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชไวเฟิร์ท เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเทศเยอรมนี พูดถึงสังคมต้องมีทางเลือกใหม่ สำหรับเมืองไทยคือเศรษฐกิจพอเพียง

3. ศ.ดร.อมาตยา เซน ศาสตราจารย์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1998 พูดถึงความพอเพียงไม่ได้หมายถึงไม่ต้องการอีกแล้ว แต่ต้องมีพอที่จะอยู่ได้ พอที่จะมีชีวิตที่ดี

4. จิกมี ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฏาน พูดถึงประเทศไทยจะสามารถสร้างโลกใบใหม่จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

5. ศ.ดร.ปีเตอร์ วอรร์ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย พูดถึงเศรษฐศาสตร์สีเขียว-เศรษฐกิจพอเพียง 2 แนวคิดยึดหลักไม่เบียดเบียนโลก

6. ดร.ดอจี คินเล่ย์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวภูฏาน ประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหนทางในการรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของประเทศ

7.ดร.ทาริก บานุรี ผู้อำนวยการหลักสูตรความยั่งยืนแห่งอนาคต สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน พูดถึงโลกาภิวัตน์ ต้องไม่ทำลายสังคม

8. เฟอร์นันโด ไคลแมน เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจสมานฉันท์แห่งชาติ ประเทศบราซิล พูดเรื่องจากเศรษฐกิจสมานฉันท์ถึงเศรษฐกิจพอเพียง

9. ศ.ปีเตอร์ บูทรอยด์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง หาใช่แนวทางที่ทำให้ถอยหลัง หากแต่นำทางให้โลกได้เห็นอนาคต

10. ศ.ปีเตอร์ คัลกิ้น ผู้อำนวยการหลักสูตรนานาชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ประเทศไทย พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงคือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่บนเงื่อนไขของคุณธรรม

11. ดร.ฟาสติโน คอร์โดโซและโยฮันเนส อัสโบโก้ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติติมอร์เลสเต พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงสกัดบริโภคนิยม และ

12. ศ.ดร.วิมาลา วีระรัควาน ผู้อำนวยการสถาบันอมิตี้แห่งพฤติกรรมสุขภาพและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ประเทศอินเดีย พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ต้องเกิดจากภายใน


[Original Link]