มิติเศรษฐกิจพอเพียงในทรรศนะโลก
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคมและสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดบทสัมภาษณ์ 13 กูรูนักคิด นักวิชาการและบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวต่างประเทศ เกี่ยวกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีในโลก เช่น เศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy)ในออสเตรเลีย เศรษฐกิจสมานฉันท์(Solicarity Economy)ในบราซิล เศรษฐกิจแบบคานธี(Gandhian Economics) รวมถึงมีการแลกเปลี่ยน มุมมองในระดับสากลกันเป็นครั้งแรก
โดยมุมมองของกูรูทั้ง 13 คน ประกอบด้วยดร.วูล์ฟกัง ซัคส์ ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันวุพเพิลทอล ประเทศเยอรมนี มองว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกประเทศในเวลานี้ ขณะที่ ศ.ดร.ฟรานซ์ ธีโอกอตวอลล์ ผู้อำนวยการมูลนิธิซไวเฟิร์ท เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มองเศรษฐกิจพอเพียงว่ามีรากฐานมาจากพุทธธรรม ที่จะทำให้เกิดการปล่อยวางและเป็นสุข
ด้านศ.ดร. อมาตยา เซน ศาสตราจารย์ชาวอินเดีย ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2541 ให้ความเห็นว่า เป็นการใช้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและโอกาสพอเพียงในการมีชีวิตที่ดี ส่วนฯพณฯ จิกมี ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน ให้ทรรศนะว่า หัวใจของหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือการอยู่ได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่อย่างยั่งยืน และไทยจะสร้างโลกใบใหม่จากแนวคิดดังกล่าวนี้ และสุดท้ายหากสำเร็จจะกลายเป็นหลักการและแนวปฏิบัติของโลก
ศ.ดร. ปีเตอร์ วอรร์ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ ประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ มองเศรษฐกิจพอเพียงใน 2 เรื่องหลักรวมกันอยู่ คือ ความต้องการในปัจจัยใช้สอยตามที่เป็นจริง ไม่ใช่สิ่งเกินจำเป็น และการไม่สร้างความเสี่ยงเกินกำลังที่ตัวเองจะรับได้ สำหรับดร. ดอจี คินเลย์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวภูฏาน ประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เชื่อว่าความสุขมวลรวมประชาชาติ และเศรษฐกิจพอเพียง มีความคล้ายกันในจุดที่เน้นเรื่องการให้ความเคารพต่อธรรมชาติและระบบนิเวศ และไม่ไปไกลเกินขีดความสามารถของทรัพยากรที่มี
ดร. ทาริก บานุรี ผู้อำนวยการหลักสูตรความยั่งยืนแห่งอนาคต สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม สวีเดน เชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้คือ การรับรู้เรื่องความยุติธรรม ซึ่งปรากฏอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงด้วยเช่นกัน ด้าน เฟอร์นันโด ไคลแมน เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจสมานฉันท์แห่งชาติ ประเทศบราซิล เชื่อว่าแนวทางสมานฉันท์ไม่ต่างจากเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ขณะที่ศ.ปีเตอร์ บูทรอยด์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย แคนาดา ชี้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงในไทยกำลังเป็นตัวอย่างนำร่องของทางเลือกสำหรับการพัฒนาซึ่งในอเมริกาใต้มีคนสนใจแนวคิดนี้มาก ส่วน ศ. ปีเตอร์ คัลกิ้น ผู้อำนวยการหลักสูตรนานาชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่าการจะนำแนวคิดนี้มาปรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใด ต้องสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน
ดร. ฟาสติโน คอร์โดโซ และโยฮันเนส อัสโบโก้ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติติมอร์ตะวันออก กำลังนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในประเทศ และศ.ดร. วิมาลา วีระรัควาน ผู้อำนวยการสถาบันอมิตี้แห่งพฤติกรรมสุขภาพและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ประเทศอินเดีย มองว่า โลกกำลังอยู่ในยุคของระบบทุนนิยม แต่เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นทางออกของยุคนี้
การเปิดบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ย้ำว่า ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นความล่มสลายของระบบทุนนิยม และการหาจุดเริ่มต้น "แนวทางใหม่" ที่กูรูส่วนใหญ่เชื่อว่า เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นแนวทางใหม่
บทสัมภาษณ์ดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำโครงการแผนที่เดินทาง(Roadmap) เศรษฐกิจพอเพียง ที่ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ต้องการถกเถียงในเวทีโลกว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน เพราะวันนี้วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ทำให้ระบบทุนนิยมสหรัฐฯ ก้าวมาถึงทางตันแล้ว "เราเชื่อว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางแก้ปัญหาโลกได้"
เช่นเดียวกับ ดร. อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการ สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม กล่าวถึงเหตุผลที่สหรัฐฯมาถึงทางตันเป็นเพราะวิธีคิด ที่เกิดจากความโลภทั้งระบบและสถาบัน โดยเชื่อว่าการมีเงินมากๆเป็นความดี และความสุขของมนุษย์ยิ่งได้มากยิ่งดี ทำให้มองหาทางออกไม่ได้
ส่วนหลักเศรษฐกิจพอเพียง ยึดที่ความพอดี ถ้าคนรู้จักพอเพียงและใช้ให้พอดี เอาส่วนที่เหลือไปให้คนอื่นจะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข "สหรัฐฯและยุโรป ไม่เข้าใจธรรมชาติและพยายามฝืนธรรมชาติ แต่ Oriental Wisdom หรือวิถีเอเชีย อยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุลและใช้อย่างพอเพียง"
สำหรับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ดร.อภิชัย มองว่า ทุกคนมีส่วนนำประเทศไทยไปสู่ความเสียหาย การเอาชนะกันเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นสุดท้ายจะมีแต่ล่มจม จะต้องหันมาคิดถึงความยั่งยืนของประเทศเป็นหลัก
[Original Link]