วันที่โลก (ต้อง) เรียนรู้ ศก.พอเพียง
ไม่ว่าจะด้วยวิกฤตซับไพรมในสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยจนทางการสหรัฐต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไข เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเลห์แมน บราเธอร์สก็ประกาศล้มละลายหลังจากที่เมอร์ริล ลินช์ขายกิจการให้แก่ธนาคารอเมริกา หรือกรณีของเอไอจีประสบกับวิกฤตการเงินอย่างร้ายแรง ลุกลามไปยังตลาดการเงินทั่วโลกจนรัฐบาลในหลายประเทศต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นด้วยการรับประกันเงินฝากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อทั่วโลกมีภาวะปั่นป่วนทางเรื่องเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้หลายประเทศกำลังมีการตั้งวงคุยเพื่อหาทางออกในประเด็นต่างๆ ที่จะว่าไปแล้วล้วนอยู่ในหลักของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงของเราพยายามสื่อสารให้คนไทยรับรู้มากว่า 40 ปี
คาดว่าการรับรู้แรกมาจากเมื่อต้นปี 2550 ทางสหประชาชาติได้มีการจัดทำรายงานการพัฒนาคนกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยหยิบยกเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นประเด็นหลักและเผยแพร่รายงานนี้ไป ทั่วโลกกว่า 140 ประเทศ หมายความว่า คนที่เกี่ยวข้องก็จะได้ทราบข้อมูลข่าวสารผ่านรายงานฉบับนี้
เมื่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกำลังเป็นทางออกหนึ่งที่ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจ ดร.อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บชท.) ร่วมกับ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ จึงออกเดินทางสัมภาษณ์นักคิดนักวิชาการ และบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวต่างประเทศจำนวน 13 ท่าน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดและมุมมองสากลเพื่อเชื่อมเครือข่ายต่อในการที่จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนอกเหนือจากการทำให้เป็นที่รู้จักแล้วยังเกิดการทำงานร่วมกันที่จะค้นหา จุดร่วมบางอย่างที่จะช่วยในการพัฒนาประเทศได้ โดยได้พันธมิตรอย่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และ บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ช่วยเผยแพร่ต่อ
"ที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาพอสมควร และมีการตื่นตัวในเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนจากมุมมองของนักวิชาการ นักคิดของไทย คราวนี้เรามามองสลับโดยการออกสัมภาษณ์นักวิชาการต่างชาติ ก็จะพบว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางเลือกหนึ่งในหลายๆ ทางที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะเห็นแล้วว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นแบบสุดขั้วตามระบบทุนนิยมของสหรัฐอเมริกาเดินไปสู่จุดที่ตีบตัน การได้ทราบข้อคิดเห็นของนักวิชาการทั้ง 13 ท่านส่วนใหญ่มีโอกาสเข้ามาทำงานและการวิจัยในเมืองไทยและรู้จักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพอสมควรร่วมสะท้อนเศรษฐกิจพอเพียงในทรรศนะโลก (sufficiency economy in global view) ด้วยการนำประสบการณ์ในแต่ละด้าน หลักการทฤษฎีและความรู้ที่มีอยู่มาผนวกกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะทำให้ทราบทิศทางของโลกว่าเกิดการสร้างเครือข่ายและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน" ดร.พิพัฒน์กล่าว
หลังจากกลับมาทั้ง 3 ท่านได้หยิบยกเอาบางทรรศนะมาสะท้อนได้อย่างน่าสนใจ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศเยอรมนี ศ.ดร.วูล์ฟกัง ซักส์ เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงมีส่วนเชื่อมกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ไม่ได้บอกให้ทิ้งเทคโนโลยีแต่ให้เลือกที่ความเหมาะสมและเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับงาน เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกประเทศในเวลานี้ ทิศทางเดียวกับ ศ.ดร.ปีเตอร์ วอร์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่เปรียบเทียบเศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐศาสตร์สีเขียว และเชื่อว่าการใช้ทรัพยากรแบบไม่เบียดเบียนและการมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงจะเป็นหนทางสู่ความสุขแท้จริง
เพราะโลกไม่สามารถตอบสนองต่อการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีขีดจำกัด ด้านนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย ศ.ดร.อมาตยา เซน ให้ความสำคัญกับศักยภาพของคน เป็นหลัก ไม่ได้มองว่าคนทรัพยากรในปัจจัยการผลิตทางเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องจักรในการสร้างรายได้อย่างเดียว แต่การทำงานต้องมีเรื่องจิตวิญญาณและเพิ่ม ความสุขให้ด้วย ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นการใช้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและ ใช้โอกาสให้พอเพียงกับชีวิตที่ดี
"ถ้าเราไม่ได้มองเพียงชื่อเศรษฐกิจพอเพียง จะพบเลยว่าจุดร่วมของเศรษฐศาสตร์สาขาต่างๆ ที่เรียกว่า Aternative economic จะมีอะไรคล้ายๆ กัน คือต้องคำนึงถึงคนเป็นหลัก เอาคนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่มองเพียงทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นคนที่มีแรงงานและแรงใจ การให้ความสำคัญกับเรื่องจิตวิญญาณ และให้ความสำคัญที่จะทำให้การผลิตสินค้าที่เป็นปัจจัยหลักในวงจรธุรกิจมีการคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นการเน้นเรื่องการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวเป็นการฝากต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาไม่มีใครออกมาเรียกร้องได้นอกจากภาคสังคม แต่วันนี้ธรรมชาติกลับมาเรียกร้องด้วยตัวมันเอง อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจทางเลือกแบบนี้จะทำให้แต่ละประเทศเห็นจุดร่วมที่จะเดินไปด้วยกัน เพียงแต่อาจจะไม่ได้ใช้คำเรียกเดียวกัน เพียงแต่เนื้อหาสาระก็คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างใกล้ชิด"
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับ ดร.ทาริก บานุรี ผู้อำนวยการหลักสูตรความยั่งยืนแห่งอนาคต สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ว่าทำไมถึงไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน ทั้งที่เศรษฐกิจพอเพียงมีความเกี่ยวโยงกับหลายสิ่งและเชื่อมโยงความหลากหลายของมิติปัญหาและสังคมเข้าไว้ด้วยกัน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำเสนอโลกาภิวัตน์ในรูปแบบใหม่ต่อมนุษยชาติ ซึ่งก็คือแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง
ที่ประเทศภูฏาน ดร.ดอจี คินเลย์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้ความเห็นว่า เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงมาได้ถูกเวลา ในขณะที่ ฯพณฯ จิกมี่ ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฏาน บุคคลสำคัญที่ริเริ่มแนวปรัชญาบริหารประเทศ โดยใช้ "ความสุข" ของประชากรเป็นตัวชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศบอกว่า หัวใจของหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือการอยู่ได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่อย่างยั่งยืน หลายประเทศที่สังคมพัฒนารุดหน้าไปไกล ร่ำรวยในทางวัตถุและทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันกลับยากจนทางจิตใจ จึงต้องพัฒนาทั้ง 2 ส่วนนี้ไปด้วยกัน ซึ่งไทยเองจะสามารถสร้างโลกใบใหม่จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชีวิตที่ยั่งยืน และสุดท้ายจะไม่หยุดเพียงแค่ในประเทศแต่จะเป็นหลักการและแนวปฏิบัติของโลกซึ่งหากทำได้สำเร็จ ไทยก็คือผู้นำ
ในทวีปอเมริกาใต้มีผู้สนใจแนวความคิดนี้มาก เนื่องจากไปสอดคล้องกับแนวคิดของเศรษฐกิจสมานฉันท์ นักวิชาการในยุโรปและอเมริกาเหนือต่างเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงเกี่ยวพันและพัฒนามาจากพุทธเศรษฐศาสตร์ที่ อี. เอฟ. ชูมาเกอร์ ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากมหาตมะ คานธี กล่าวถึงเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ปลดแอกประเทศอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และความคิดส่วนหนึ่งของเขาก็ได้กลายมาเป็นต้นแบบของระบบเศรษฐกิจแบบคานธี (Gandhian economics) ในเวลาต่อมาศาสตราจารย์ปีเตอร์ บูทรอยด์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา จึงเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทยกำลังเป็นตัวอย่างนำร่องของทางเลือกสำหรับการพัฒนา
ดร.ฟาสติโน คอร์โดโซ และอาจารย์ โยฮันเนส อัสโบโก้ 2 นักวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งชาติติมอร์-เลสเต ได้ศึกษาและนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับสังคมชาวติมอร์-เลสเต (หรือติมอร์ตะวันออกเดิม) เคยนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปขับเคลื่อนในหมู่บ้าน มีการร่วมมือกันและมีการตั้งกลุ่มสหกรณ์ ออมทรัพย์โดยใช้กรณีศึกษาที่มาจากเมืองไทย ผ่านไป 4 ปีกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงยังคงดำรงอยู่และมีกิจกรรมต่างๆ ที่มีความก้าวหน้าพอสมควร ขณะที่สมาชิกมีจำนวนมากขึ้นหลังจากที่เห็นผลจากการทำงานของกลุ่มดังกล่าว
เช่นเดียวกับในแถบละตินอเมริกา ดร.อภิชัยเล่าว่า ในแถบนี้มีการนำคนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของทรัพยากรในสถานประกอบการเพื่อให้เกิดการกระจายความมั่งคั่ง ลงไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แนวคิดนี้คล้ายคลึงกับเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันแบบสหกรณ์ วันนี้คนที่ ส่งเสริมเศรษฐกิจในละตินอเมริกาเริ่มมองเห็นแล้วว่าถ้าเราใช้ระบบทุนนิยม เกิดการบริโภคมากเกินไปจะก่อให้เกิดผลกระทบ กับสิ่งแวดล้อม เขาจึงมาศึกษาแนวของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงของนักวิชาการ ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่รับรู้มากนักในวงกว้างแต่ก็จะเกิดการเชื่อมโยงกัน
อย่างศาสตราจารย์ปีเตอร์ คัลกิ้น อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยลาวาล ประเทศ แคนาดา ที่ทำงานอยู่กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับแนวการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่วมพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก รวมถึงชวนนักศึกษาจากประเทศต่างๆ มาเรียนและทำกรณีศึกษาในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงปีละ 25 เคส ซึ่งประเทศไทยจะนำไป ต่อยอดในอนาคต
ไม่ใช่แค่เพียงนักวิชาการเท่านั้น นักธุรกิจก็เริ่มตื่นตัว ดร.สีลาภรณ์เล่าให้ฟังว่า จากการได้ไปประชุมผู้บริหารของบริษัทฮิตาชิที่ประเทศญี่ปุ่น มีการพูดในที่ประชุมเลยว่า ถึงเวลาแล้วที่โลกจะต้องมีแนวทางใหม่ในการพัฒนา ไม่เช่นนั้นปัญหาจะไม่สามารถแก้ไขได้ จึงผลักดันให้ที่ประชุมหาวิธีที่จะมาแก้ไข ซึ่งก็เป็นแนวของเศรษฐกิจพอเพียง จากสัญญาณเหล่านี้ไม่ใช่เพียงนักวิชาการ แต่ภาคธุรกิจ ภาคสังคมก็เห็นแล้วว่าการเดินตามกระแสทุนนิยมไปต่อไม่ได้
"วันนี้เราไม่ได้คุยคนเดียวลำพัง แต่ตอนนี้ทั่วโลกกำลังพูดถึงหลักการทฤษฎีที่อยู่ในศตวรรษที่แล้ว บางทีอาจจะใช้ไม่ได้กับสภาวการณ์ในตอนนี้อีกต่อไป ต้องมาหาหลักการแนวใหม่เข้ามา ถ้ามองในแง่องค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียงในเงื่อนไขคุณธรรมไม่ได้ใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ในการเมืองได้ เพียงแต่เราไม่ได้ฉุกคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงมันแตะทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ถ้าเรารู้จักหยิบมาใช้แก้ปัญหา"
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตอนนี้นับเป็นรอยต่อสำคัญที่หลายประเทศต้องเร่งแก้ไข แต่จะนำไปใช้อย่างไร รวดเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเนื้อหาใจความตามแต่ละประเทศเสนอ ซึ่งแน่นอนว่ามีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวใจสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยได้เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงก่อนประเทศอื่นอาจจะไม่ทำให้มีแต้มต่อมากนักหากคนไทยได้แต่รักษาแต่ไม่ศึกษาหรือนำไปประยุกต์ใช้ การเดินหน้าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต่อไปจะต้องเปลี่ยนจากการรักษาเป็นศึกษา
[Original Link]