ศีล 4 กับเศรษฐกิจพอเพียง
ความต้องการ เป็นมูลฐานสำคัญที่ทำให้เกิดวิชาเศรษฐศาสตร์ เมื่อความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด ไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่สิ่งของและบริการที่มนุษย์ต้องการมีจำนวนจำกัด เศรษฐศาสตร์จึงเข้ามามีส่วนในการจัดการ จัดแบ่งให้มีการบริโภคที่จะสนองความต้องการของมนุษย์ให้มากที่สุด ความต้องการนี้เองเป็นตัวบังคับให้มนุษย์ทำงาน ให้มนุษย์ผลิตคิดค้นจนเกิดมีความมั่งคั่งและมีสวัสดิการ
ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่พัฒนามาจากอารยธรรมตะวันตก ถือว่าความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสัญชาตญาณตามปกติของมนุษย์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจตามสายการพัฒนานี้ จึงมุ่งตอบสนองความต้องการเพื่อให้มนุษย์ได้รับความพึงพอใจมากที่สุด โดยเชื่อว่ายิ่งได้บริโภคมากยิ่งมีความพึงพอใจมาก
ค่านิยมการดำเนินชีวิตในกระแสนี้ ได้ให้ความสำคัญกับความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของสินค้าและบริการว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของความกินดีอยู่ดีของคนในสังคม ยิ่งมีสินค้าและบริการที่สามารถรองรับการบริโภคมากก็ยิ่งแสดงถึงความกินอยู่ที่บริบูรณ์มาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจหลักในทุกวันนี้ ได้แก่ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่เป็นการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
การผลิตในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การสร้างสรรค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดออกมาหรือทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นคำนิยามที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ แท้ที่จริงแล้ว การผลิต หมายถึง การแปรสภาพสิ่งหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง จากวัตถุอย่างหนึ่งไปเป็นวัตถุอีกอย่างหนึ่ง จากแรงงานอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ถูกแปรสภาพคือ ปัจจัยการผลิต เมื่อผ่านกระบวนการแปรสภาพแล้วเรียกว่า ผลผลิต ซึ่งเป็นได้ทั้ง สินค้าและบริการ รวมทั้งของเสีย การแปรสภาพนี้เป็นการทำให้เกิดสภาพใหม่โดยทำลายสภาพเก่า ดังนั้น ในกระบวนการผลิตมักจะมีการทำลายอยู่ด้วยเสมอ
การผลิตที่มิได้คำนึงว่าทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัด ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรและพลังงานจนเกินขีดความสามารถที่จะนำปัจจัยเหล่านั้นมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ ส่วนการผลิตคราวละมากๆ โดยหวังผลของการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้เป็นผลผลิตส่วนเกิน ซึ่งแม้จะไม่ใช่ของเสียจากการผลิต แต่เมื่อไม่สามารถใช้งานได้หรือจำหน่ายได้ ถูกทิ้งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเองตามธรรมชาติโดยไม่มีประโยชน์ใดๆ เท่ากับว่า ปัจจัยเหล่านั้นถูกทำลายให้กลายเป็นของเสีย ถือว่าเป็นของเสียจากการผลิตเช่นกัน การผลิตเหล่านี้ได้สร้างมลภาวะและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาของโลกปัจจุบัน
การแก้ไขที่ต้นเหตุเพื่อปรับให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คือ การลบล้างความเชื่อที่ผิดๆ ว่า ความต้องการของมนุษย์นั้นไร้ขอบเขตและมีไม่จำกัดด้วยสัญชาติญาณ สู่ความจริงที่ถูกต้องว่า ความต้องการของมนุษย์นั้นมีขอบเขตและจำกัดได้ด้วยปัญญาญาณ เมื่อความต้องการมีขอบเขตจำกัด การผลิตก็จะเกิดการปรับตัวให้อยู่ในระดับที่สมดุลกับความต้องการในการบริโภค เช่น การผลิตที่เกินขีดความสามารถการหมุนเวียนของทรัพยากรทางธรรมชาติ และการผลิตที่ก่อให้เกิดผลผลิตส่วนเกินหรือของเสียที่สร้างมลภาวะและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ก็จะลดน้อยลง หนทางของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าว ก็คือ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
การปรับระบบเศรษฐกิจให้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติ สามารถใช้ ศีล เป็นเครื่องกำกับ เนื่องจาก สี-ละ ตามความหมายเดิมแปลว่า ปกติ หากสิ่งใดเป็นไปด้วยความปกติ ไม่วุ่นวาย ก็เรียกว่า สี-ละ ศีลที่มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ กระบวนการผลิต (Production) กระบวนการบริโภค (Consumption) เรื่องอรรถประโยชน์ (Utility) และการกระจายผลผลิต (Distribution) ในที่นี้ขอเรียกว่า ศีล 4 ทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย
1. อาชีวปาริสุทธิศีลในการผลิต คือ การเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ การไม่ประกอบอาชีพที่เป็นการเบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ชีวิตอื่น แก่สังคม หรือทำให้ชีวิต จิตใจ และสังคมเสื่อมโทรมตกต่ำ แต่หาเลี้ยงชีพโดยทางสุจริตด้วยความอุตสาหะพากเพียร สอดคล้องกับทัศนะของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ผลิตหรือทำกิจการงานเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ มีขนาดพอประมาณ ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป จนทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
2. ปัจจัยสันนิสิตศีลในการบริโภค คือ การบริโภคปัจจัย 4 และสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลาย มีความรู้ความเข้าใจในคุณค่าแท้จริงของสิ่งนั้นด้วยปัญญา สอดคล้องกับทัศนะของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้บริโภคอย่างพอประมาณ ไม่หลงติดไปกับคุณค่าพอกเสริมหรือตามกระแสบริโภคนิยมจนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น
3. อินทรียสังวรศีลในเรื่องอรรถประโยชน์ คือ การมิให้ถูกความชอบ ชัง ติดใจ หรือขัดใจ เข้ามาครอบงำ ให้รับรู้ตามความเป็นจริง โดยมีสติเป็นเครื่องกำกับ ใช้อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่รู้หรือรับความรู้ (ซึ่งเป็นไปเพื่อการศึกษาหาความรู้) มากกว่าใช้ทำหน้าที่รู้สึกหรือรับความรู้สึก (ซึ่งเป็นไปเพื่อการเสพความรู้สึก) สอดคล้องกับทัศนะของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้คำนึงถึงความมีเหตุมีผล ปราศจากอคติ สามารถพิจารณาถึงเหตุปัจจัยในสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องว่ามีคุณค่าหรือก่อให้เกิดประโยชน์เพียงใด ตลอดจนให้คำนึงถึงความคุ้มค่ามากกว่าความคุ้มทุน
4. ปาฏิโมกขสังวรศีลในการกระจายผลผลิต คือ การจัดระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์ต่างๆ ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม คำนึงถึงการกระจายผลผลิตเพื่อเป็นการสร้างหลักประก้นหรือความมั่นคงในชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข ปิดกั้นโอกาสที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ รวมถึงสงเคราะห์เกื้อกูลผู้อื่นด้วยความสมัครใจโดยมีศรัทธาเป็นเครื่องกำกับ สอดคล้องกับทัศนะของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้คำนึงถึงการมีระบบภูมิคุ้มกันด้วยการไม่สร้างหนี้ ใช้จ่ายภายในกำลังของตัว รวมทั้งสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนโดยการอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นก่อน ซึ่งที่สุดแล้ว ก็จะส่งผลกลับมาอำนวยประโยชน์แก่ตนให้อยู่รอดและเติบโต เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นและส่วนรวมให้ยืนอยู่ได้
[Original Link]