Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

ข้อเสนอแนะ 6 ประการ (3)


บทความสองตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อภารกิจด้านการขจัดความยากจนและการลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของคนจน การสร้างพลังอำนาจของชุมชนและการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็ง การยกระดับบรรษัทบริบาลหรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ และการปรับปรุงมาตรฐานของธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ ในบทความตอนสุดท้ายนี้ จะเป็นข้อเสนออีก 2 ประการที่เกี่ยวกับการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของชาติเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์ที่เข้ามากระทบโดยฉับพลัน เพื่อปรับปรุงนโยบายต่างๆ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการเติบโตที่เสมอภาคและยั่งยืน รวมทั้งการปลูกฝังจิตสำนึกพอเพียงด้วยการปรับเปลี่ยนค่านิยมเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาคน

การกำหนดนโยบายของชาติเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ
วิกฤตด้านการเงินที่มีผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นสัญญานเตือนให้รู้ถึงอันตรายและความยุ่งยากของระบบเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีการเคลื่อนทุนจำนวนมหาศาลระหว่างประเทศต่างๆ อย่างไร้ระเบียบ วิกฤตเหล่านี้ทำให้การพัฒนาคนต้องชะงักในทุกด้าน การเลิกจ้างงานทำให้คนจำนวนมากต้องหลุดเข้าสู่วงจรของความยากจน และทำให้ทุนทางสังคมต้องอ่อนแอลง

หลักของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งภายในเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากภายนอก สามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายมหภาคของประเทศ เพื่อให้อยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่ผันผวน ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้กลายเป็นหลักคิดสำคัญในการกำหนดนโยบายมหภาคของประเทศไทย ได้แก่ ลดหนี้ต่างประเทศ เพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนจากปัจจัยทางการเมือง ใช้นโยบายเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเพื่อสร้างวินัยในการบริหารอัตราดอกเบี้ย ควบคุมเพดานเงินกู้ภาครัฐ สร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับพร้อมรับความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ผู้กำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญต่อการวางแผนการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยทั่วไปในการวางแผนระดับมหภาค นโยบายด้านสังคมอาจถูกแยกออกเป็นคนละส่วนกับวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจ และมักไม่มีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในระหว่างการดำเนินการ แนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในทุกเรื่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงาน ให้ความสำคัญต่อความเสมอภาคและความยั่งยืนของการพัฒนา และสร้างภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์ที่มากระทบโดยกระทันหัน ดังนั้นการใช้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงในนโยบายการพัฒนาประเทศจะทำให้มีการใช้ทุนและทรัพยากรทุกประเภทของประเทศอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างความเข้มแข็งภายใน ในการรับมือกับโลกาภิวัตน์

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • สร้างหลักประกันว่าการดำเนินการต่างๆ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 เป็นไปตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง และตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการร่างแผนดังกล่าว

  • กำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาอัตราการออมเงินภายในประเทศที่ลดลงอย่างมาก เพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ และประชาชนมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับอนาคต

  • ปรับนโยบายเกี่ยวกับพลังงานต่างๆ ให้มีความสอดคล้องต้องกันให้มากขึ้น เน้นการพึ่งตนเองให้มากขึ้น ด้วยการเร่งวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานทดแทนให้คุ้มค่าสูงสุด

การปลูกฝังจิตสำนึกพอเพียงด้วยการปรับเปลี่ยนค่านิยมเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาคน
ความสำเร็จระยะยาวของการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นอยู่กับการปลูกฝังแนวคิดนี้ให้กลายเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมการพัฒนาของประเทศ เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มต้นและจบลงที่คน คนเป็นทั้งผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผู้รับผลจากการเปลี่ยนแปลง

บุคคลที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้ผล มักจะมีคุณสมบัติที่เหมือนกันหลายอย่าง ได้แก่ ชอบที่จะทำงานหนัก มีความซื่อสัตย์ สนุกสนานกับการเรียนรู้ และการสร้างปัญญาให้เกิดกับตัวเอง เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคม และการอยู่ร่วมกับระบบนิเวศน์วิทยาอย่างสมดุล คนเหล่านี้ไม่ใช่พวกวัตถุนิยม แต่มักจะคำนึงถึงหลักการบริโภคแบบยั่งยืน มีความเคารพธรรมชาติ และความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยกัน โดยสรุป พวกเขามีจิตสำนึกและวิธีคิดในแบบฉบับเฉพาะ

คนเราเริ่มเรียนรู้จากครอบครัว จากคนรอบข้างและเพื่อน ความรู้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงในการสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และสิ่งต่างๆ รอบตัว และจากการดูดซับจากสื่อชนิดต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของคนในยุคปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ช่องทางการรับรู้ข่าวสารความรู้จากทั่วโลกกว้างขวางขึ้น คุณภาพของวิธีการนำเสนอจึงต้องได้รับการพิจารณาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณภาพของเนื้อหาที่ถูกนำเสนอ น่าเสียดายที่ในหลายกรณี เนื้อหาของรายการมักถูกกำหนดด้วยความต้องการของตลาดที่ถูกบิดเบือนด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจ

การนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในตลาดที่เต็มไปด้วยการโฆษณาสินค้าบริโภคนิยมที่น่าตื่นตาตื่นใจ จึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการดึงดูดความสนใจ และสร้างความตระหนักถึงคุณประโยชน์ และความจำเป็นในการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และควรหาวิธีการในการสร้างค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดขึ้น และดำรงอยู่เป็นค่านิยมหลักในสังคม เริ่มจากการสร้างความเข้าใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในวงกว้างมากขึ้นผ่านสื่อต่างๆ การค้นหาและนำเสนอตัวอย่างที่ดีที่มีอยู่จริงในสังคม

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • พัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างแรงจูงใจในระบบการจัดการศึกษาให้บุคลากรเหล่านั้นสนใจและอยากที่จะปฏิบัติตนและปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

  • ปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรู้และคุณธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการนำหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จ

  • หาวิธีส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงผ่านสื่อมวลชน รวมถึงการเพิ่มเวลาให้กับรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาคน การพัฒนาสังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติทั้ง 6 ประการในบทความทั้งสามตอนนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็น Checklist การตรวจสอบความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยงาน หรือใช้สำหรับการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่าได้ดำเนินตามแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้วมากน้อยเพียงใด

[Original Link]