การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
ประสิทธิ์ ไชยชมพู
ที่ผ่านมา การแสดงรูปธรรมของเศรษฐกิจพอเพียง มักยกตัวอย่างในภาคเกษตรกรรม ภาคชนบทเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าเป็นแปลงเกษตรส่วนบุคคล หรือแปลงเกษตรในนามกลุ่ม การบริหารจัดการกองทุนกลุ่มเกษตรกร เป็นต้น ส่วนในภาคธุรกิจยังไม่ค่อยมีใครรู้ว่า ได้เริ่มนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปพิสูจน์บ้างแล้ว
เศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเคยทำธุรกิจส่วนตัวด้านไอที ได้มาร่วมงานกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) พูดถึงการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงกับภาคธุรกิจ โดยในปี 2547 ทำโครงการพัฒนากรณีศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ 4 แห่ง โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จับมือ สกว. นำภาครัฐ และภาคประชาสังคมถอดบทเรียนดูว่าภาคธุรกิจเอกชนที่มีปรัชญามุ่งทำกำไรสูงสุด จะนำเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้ได้อย่างไร ซึ่งบางแห่งพบว่าดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มั่นใจว่าใช่หรือไม่
ปี 2548 เริ่มเป็นรูปธรรม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านองค์กรภาคธุรกิจเอกชน มีดร.อาชว์ เตาลานนท์ เป็นประธานคณะทำงาน และในเดือนพฤษภาคม 2549 ได้ทำเอกสารวิจัยสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจพอเพื่อนำไปเผยแพร่ใน 135 ประเทศ
ดร.พิพัฒน์ ระบุถึงอุปสรรคปัญหาที่พบ เช่น 1.ไม่พยายามทำความเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่างถ่องแท้ ตีความว่าแค่ประหยัด พึ่งพาตัวเอง ไม่เป็นหนี้ ซึ่งความจริงมีมากกว่านี้ 2.แนวทางไม่ถูกต้อง มักต้องการเครื่องมือสำเร็จรูปในการนำไปใช้ได้เลย 3.อ้างไม่มีเวลาทำเศรษฐกิจพอเพียงในธุรกิจ
ผอ.สถาบันไทยพัฒน์ เสนอแนวทาง 3 ระดับ ของการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปพัฒนาในภาคธุรกิจ
1. ขั้นธุรกิจอยู่รอดได้ รับผิดชอบ ตอบสนองผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจ เช่น ผู้ถือหุ้นได้กำไรตอบแทน
2. กลุ่มธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า เน้นการรวมกลุ่มร่วมมือทางธุรกิจประเภทเดียวกัน เช่น กิจการร่วมค้า(จอยท์ เวนเจอร์) สหพันธ์ธุรกิจ(คอนซอเที่ยม) รวมเป้าหมายธุรกิจร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ในรูปชมรม สมาคม ขณะเดียวกัน ก็เปลี่ยนรูปแบบการบริหารเป็นแบบ ซีเอสอาร์หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) คือการดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อสังคม
3. ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง ในระดับเครือข่าย เพิ่มเพิ่มขีดความสามารถ ด้วยการเน้นกลุ่มแนวราบลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ(คลัสเตอร์) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขั้น การติดต่อประสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจต่างๆ กับหน่วยงานอื่น เช่น สถาบันวิชาการ สถาบันการเงิน และสถาบันสังคม พึ่งพิงอิงกัน สงเคราะห์เกื้อกูล มีจริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม ต่างได้รับประโยชน์ทั่วหน้า
ปัจจุบัน กำไรทางบัญชีเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ตัวชี้ขาดทางธุรกิจอีกต่อไป
กำไรทางเศรษฐศาสตร์ เช่น โอกาสพัฒนาทุน การสร้างภาพลักษณ์ มีความสำคัญไม่น้อย
กลไกขับเคลื่อน แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ต้องสร้างเครื่องมือปฏิบัติงาน และสร้างตัวชี้วัด ซึ่งในอนาคตจะเริ่มใช้เป็นต้น
พร้อมกันนี้ จะมีการประชุมภาคธุรกิจไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนบริษัทหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินธนาคาร หาแนวทางปรับตัวให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง คาดเดือนมกราคม 2550 จะเริ่มได้
สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.thaicsr.com
เศรษฐกิจพอเพียงสู่โรงเรียน
ดร.ปรียานุช พิบุลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวถึงการผลักดันความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่สถานศึกษา โดยเริ่มเมื่อตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ได้ร่วมกับสนง.รับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) จัดประกวดความเรียงเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 4 ช่วงชั้น ได้แก่ ป.1 – ป. 3 / ป.4- ป.6 ช่วงชั้น ม.1- ม.3 / ม.4 - ม.6
ปรากฏว่า ในจำนวน 1,500 ชิ้น ความเรียงของเด็กสะท้อนความยังไม่เข้าใจอย่างถูกต้องต่อเศรษฐกิจพอเพียง ยังเข้าใจว่าคือเกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่ใช้สิ่งของจากนอกพื้นที่
ต่อมาการประกวดในปี 2548 ทำให้รู้ว่าครูผู้สอนตีประเด็นเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่แตก เพราะฉะนั้น ปี 2549 จึงต้องมาจัดทำหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง อธิบายแนวทางที่ถูกต้อง ในรัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐมนตรีศึกษาได้ตั้งคณะทำงานหลายชุด รวมทั้งคณะทำงานผลิตหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงสู่โรงเรียน มี ดร.ปรียานุช เป็นประธาน
“เราก็ทำหลักสูตรอย่างพอประมาณ ไปขับเคลื่อนในพื้นที่ อบรมวิทยากร ที่เป็นครู ระดับผอ. คณะทำงานบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนจะเปิดทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ”
เช่นช่วงชั้นที่สาม เริ่มให้เรียนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วิเคราะห์ ประยุกต์ไปใช้ได้ในชีวิต ผ่านการเรียนรู้ข้อมูลชุมชน ด้วยการทำโครงงานกลุ่ม ช่วงชั้นที่สี่ ศึกษาให้เข้าใจแนวทางทางพัฒนาระดับประเทศ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาวิเคราะห์โครงการของรัฐเกี่ยวกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างไร วิเคราะห์ประเทศไทยจะอยูในโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร ให้เหมาะสมกับภูมิสังคม ประวัติศาสตร์
ปัจจุบันพยายามความรู้เศรษฐกิจพอเพียงสอดแทรกบูรณาการในทุกวิชา เช่น วิชาพละ สอดแทรกเรื่องการเตรียมพร้อมร่างกาย รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย คณิตศาสตร์ ก็สอนอย่างมีเป้าหมาย ไม่สักแต่รู้
ขณะเดียวกัน โรงเรียนต้องให้หลักเศรษฐกิจพอเพียงบริหารในโรงเรียนด้วย เริ่มนำร่อง 3,000 โรง จาก 5 หมื่นกว่าโรงเรียน
ขณะที่ในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดหลักสูตร บริหารศาสตร์(เศรษฐกิจพอเพียง) 3 ปี เป็นครั้งแรก
ส่วน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ในฐานะทำหน้าที่ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านวิชาการและสถาบันการเมือง ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สนง.คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นอกจากนิด้าได้เปิดสอนหลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาแล้ว ยังได้ตั้ง”ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง” ทำหน้าที่ 5 ด้านคือ การสอน การฝึกอบรม การวิจัย การเผยแพร่ และด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
สกว.ยอมรับต่อยอดภาคประชาชน
ดร.สิลาภรณ์ บัวสาย ผู้ช่วย ผอ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวบนเวทีประชุมวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า ในปี 2548 สกว. จับมือมหาดไทย และพอช. เพื่อแก้ปัญหายากจน 12 จังหวัด เป็นโครงการที่แตกต่างจาก “อาจสามารถโมเดล” หรือ “พร้าวโมเดล”
สมัยนั้นคนมหาดไทยบอกเองว่า โมเดลแก้ยากจนของทักษิณ แก้ปัญหาไม่ได้หรอก เพราะการจดทะเบียนคนจน ซึ่งไม่เคยมีที่ไหนในโลก ไมใช่ข้อมูลจริงแต่”ทักษิณ” ก็ไม่ขัดขวางโครงการนี้ ปล่อยให้เราทำไป
“แต่สามหน่วยงานที่จับมือร่วมงานกัน ได้ลงไปสำรวจข้อมูลเองในพื้นที่ รับฟังชาวบ้านคิดเรื่องอะไร ก็เรื่องทำการเกษตร เรื่องที่ดิน ผ่านการเสนอแผนภาคประชาชนขึ้นมา โดยใช้กระบวนการเก็บข้อมูลตัวเอง ชาวบ้านก็เสนอสิ่งที่อยากทำเอง และอยากทำกับองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น...ที่ผ่านมา ยอมรับข้อมูลชุมชนมาจากภาคประชาชน และ สกว.นำมาต่อยอด”
และนั่นคงเป็นที่ สกว. สรุปสโลแกนคำขวัญที่ว่า “คิดได้ก็หายจน” ไม่ใช่ต้องรอรัฐมาแจกวัว แจกแท็กซี่
ในหลวงตรัสไว้ 2 ครั้งว่า “ไม่สุรุ่ยสุร่ายก็จบ”
สิ่งที่พบคือ ภาครัฐมีจุดแข็งที่ความชอบธรรม ขยายผลได้ ส่วนภาคประชาชนมีจุดแข็งที่สร้างนวัตกรรมเก่ง แต่ขยายผลได้ไม่มาก ดังนั้นจะมีสถาบันวิชาการมาเสริมให้เกิดความน่าเชื่อถือ
หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง คือ
1.พอประมาณ 2.มีเหตุมีผล 3. มีภูมิคุ้มกัน
2 เงื่อน คือ ความรู้ และมีคุณธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจพอเพียง จุดเปลี่ยนประเทศไทย
- อภิชัย พันธเสน “เศรษฐศาสตร์พอเพียงอิงศาสนา เป็นยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์”
[Original Link]