Sufficiency Alignment Map
การดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละองค์กรจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายและทิศทางที่ผู้บริหารเป็นผู้กำหนดขึ้น และขึ้นอยู่กับช่วงอายุของกิจการ โดยธรรมชาติของกิจการเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่ต้องการดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ร่วมกัน ต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทำให้สามารถจำแนกระดับความพอเพียงขององค์กรออกเป็น 2 ระดับ คือ เศรษฐกิจพอเพียงระดับพื้นฐาน ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร (Internal Stakeholder) เป็นหลัก และเศรษฐกิจพอเพียงระดับก้าวหน้า ที่ครอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร (External Stakeholder) การจัดวางองค์กรหรือการปรับแนว (Alignment) การดำเนินงานขององค์กร จึงมีส่วนสัมพันธ์กับการให้น้ำหนักความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในระดับต่างๆ
กิจการที่เข้าข่ายการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงระดับพื้นฐาน จะให้ความสำคัญเฉพาะประโยชน์ที่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรจะได้รับ โดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กรมากนัก เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ พัฒนาองค์กรให้มีความเข้มแข็ง เป็นอิสระ (Independent) ดำเนินกิจการโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเองได้ มีรายรับที่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ ปราศจากภาระหนี้สิน หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ในระยะเวลาที่กำหนดหรือเมื่อเจ้าหนี้ทวงถามโดยชอบ ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance)
กิจการที่เข้าข่ายการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงระดับก้าวหน้า จะให้ความสนใจกับผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กรมากขึ้น เน้นถึงการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ การแบ่งปันหรือการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างคู่ค้าที่อยู่ต้นน้ำ (Upstream) เพื่อการสร้างประสิทธิภาพและการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในสายอุปทาน และคู่ค้าที่อยู่ปลายน้ำ (Downstream) เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในสายอุปสงค์ ภายใต้รูปแบบของการพึ่งพิงอิงกัน (Inter-dependent) สงเคราะห์เกื้อกูลชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมรอบข้าง มีจริยธรรม มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) และมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
ผังการปรับวางระดับความพอเพียงสามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรธุรกิจในทุกสาขาและในทุกระดับทั้งที่เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เนื่องจากมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ตามค่าน้ำหนักของการให้ความสำคัญโดยคำนึงถึงความพร้อมในแต่ละองค์กร และรองรับการปรับขนาดได้ (Scalability) ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมของแต่ละกิจการ