Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

จากแนวคิดสู่ภาคปฏิบัติ เส้นทาง "เศรษฐกิจพอเพียง"


กว่า 31 ปี หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเรื่องความ "พอมีพอกิน" ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของ "เศรษฐกิจพอเพียง"

แม้จะมีการพูดถึงแนวคิดที่ว่าอย่างกว้างขวาง แต่การนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจยังคงไม่กว้างขวางนัก คำถามสำคัญก็คือ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจได้จริงหรือ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง ธุรกิจจะดำรง "ความพอเพียง" ได้อย่างไร และในฐานะองค์กรแสวงหากำไร

"มีหลายสิ่งที่พิสูจน์ว่าธุรกิจเอกชนสามารถประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้ โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงเกษตรกรรม เรื่องหนึ่งคือพระราชดำรัสที่พระเจ้าอยู่หัวเคยให้ไว้เกี่ยวกับปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ชี้ให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า ธุรกิจสามารถนำไปปฏิบัติได้ และจากการทำวิจัยโครง การศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม/ องค์กร/พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตในระยะที่ 1 ก็พบว่าจากกลุ่มตัวอย่างทั้ง 626 กลุ่ม พบว่ามีธุรกิจอยู่ในนั้นด้วย" พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะนักวิจัยกล่าว

จากปรัชญาสู่ความเป็นจริง
ในมุมมอง ดร.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิกองทุนไทย กล่าวว่า หากกล่าวโดยสรุปเศรษฐกิจพอเพียงก็คือความพอดีและสมดุล เพราะฉะนั้นอะไรที่พอดีและสมดุลจะทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนได้ในระยะยาว ถ้าจะขยายความ เศรษฐกิจพอเพียงแบ่งออกเป็น 5 ประการ ได้แก่ ความพอประมาณ มีเหตุมีผลและมีภูมิคุ้มกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุน 2 ข้อคือ เงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม ซึ่งทั้งหมดรวมแล้วก็คือความสมดุล เพราะถ้าไม่มีคุณภาพ ความรู้ก็เสียสมดุล ไม่ว่าจะชีวิต ครอบครัว องค์กรธุรกิจ และประเทศก็ต้องใช้หลักการนี้ เพราะฉะนั้นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงธุรกิจใช้ได้หมด ปัจจุบันก็มีทั้งบุคคล ชุมชน ที่ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอยู่พอสมควร ขณะที่ธุรกิจก็มีองค์กรจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นองค์กรที่มุ่งกำไรสูงสุด องค์กรที่มีการป้องกันความเสี่ยง

จากงานวิจัยของ "พิพัฒน์" มีข้อมูลชุดหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า จากการสุ่มตัวอย่างทั้ง 626 กลุ่ม ซึ่งรวบรวมกลุ่มตัวอย่างจากชุมชน ธุรกิจ เกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน พบว่าในสังคมไทยมีระดับการเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ 3 ระดับ 1.เข้าข่าย 488 ราย คิดเป็น 78% 2.เข้าใจ 126 ราย คิดเป็น 20.1% 3.เข้าถึง 12 ราย คิดเป็น 1.9% โดยกลุ่มที่มีความเข้มข้นที่อยู่ในระดับการเข้าถึงมีองค์กรธุรกิจอยู่ร่วมด้วย 4-5 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง !!

แต่ปัญหาก็คือ จะขยายปรัชญาที่ว่าให้กว้างขวางออกไปได้อย่างไร รวมถึงการตอบโจทย์ "วิธีการการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงขององค์กรธุรกิจ" จากปรัชญาสู่ความเป็นจริง โดยใช้คุณลักษณะแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ข้อคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี มาจับ

ความพอประมาณ...ที่เป็นความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น

ความมีเหตุผล...ในการตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น โดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลกระทบ

การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว...เพื่อเตรียมพร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

พิพัฒน์กล่าวว่า ความพอประมาณที่จะนำไปสู่การสร้างสมดุลให้ธุรกิจ การผลิตและการบริโภคในระดับพอประมาณ เช่น พยายามไม่มีรายจ่ายเกินรายได้ โดยลดหนี้สินต่อทรัพย์สินและหนี้สินต่อทุนลงมาให้มีความพอดี หรือมีขนาดที่เท่าๆ กัน"

สร้างภูมิคุ้มกัน-บริหารความเสี่ยง
ส่วนความมีเหตุมีผลซึ่งจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ ในงานวิจัยพบว่า อรรถประโยชน์ตามแนวปรัชญานี้ให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่ามากกว่าเรื่องราคา "คุณค่าการผลิต" ที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่ามากกว่าความคุ้มทุน ซึ่งคำนวณโดยใช้ตัวเลขผลกำไรจากกระบวนการผลิตที่เน้นในเรื่องมูลค่า โดยแบ่งคุณค่าการผลิตออกเป็น5 ระดับ เรียงลำดับคุณค่าจากมากไปถึงน้อย 1. ปัจจัย 4 เช่น ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ฯลฯ 2. สินค้าประเภทความมั่นคงปลอดภัย เช่น ประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ 3.ความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ รถยนต์ ฯลฯ 4 .ความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีวิต เช่น เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายราคาแพง 5.อบายมุขต่างๆ เช่น เหล้า บุหรี่ ฯลฯ

"ความยั่งยืนจะมากน้อยต่างกันอยู่ที่คุณค่าการผลิตสินค้าในกลุ่มที่มีคุณค่ามาก อย่างอบายมุขเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน้อย ทำให้เป็นกลุ่มที่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความไม่ยั่งยืน เพราะเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง ดูจากกฎระเบียบในปัจจุบัน ดังนั้นยิ่งผลิตสินค้าที่มีคุณค่ามากยิ่งสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจมาก"

การดำเนินธุรกิจตามรอยปรัชญานี้ ธุรกิจยังต้องพยายามสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ที่ในทางธุรกิจเรียกว่าเป็นการป้องกันหรือบริหารความเสี่ยง เช่น ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ หรือการที่บริโภคสิ่งที่ผลิตเองได้ในประเทศ การสร้างซัพพลายเชนในการทำวัตถุดิบในการผลิตของตัวเองก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นิยมทำกันมาก

จากแข่งขันสู่แบ่งปัน
"ถึงวันนี้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออกของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด จากการทำธุรกิจที่ใช้การแข่งขันเป็นตัวตั้งมาเป็นใช้การแบ่งปัน ถ้าถามว่า ได้อะไรจากการดำเนินธุรกิจตามแนวทางนี้ สำหรับผมที่เคยทำ ทำให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่เครียด และไม่ต้องแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตาย" พิพัฒน์กล่าว

แบบตัวอย่างหลายองค์กรสะท้อนให้เห็นถึง "ความสำเร็จในการทำธุรกิจตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ที่มีตั้งแต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไปจนถึงธุรกิจ SMEs และธุรกิจชุมชน ในที่นี้จะยกตัวอย่างบริษัทขนาดใหญ่ที่ใครๆ มักสงสัยเสมอว่า การบริหารจัดการแบบพอเพียงจะนำไปสู่การขยายตัวของบริษัทและความสำเร็จได้อย่างไร

"แพรนด้า จิวเวลรี่" บริษัทเครื่องประดับที่มีรายได้ถึง 3,160 ล้านบาท ในปี 2547 และมีการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 12% มีพนักงานรวมถึง 3,500 คน เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นชัด จากการสรุปข้อมูลของโครงการบัณฑิตศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า "แพรนด้า" เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีแนวทางการบริหารธุรกิจในภาพรวมที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในด้านความพอประมาณ บริษัทมีความพอประมาณในด้านการผลิตและรับคำสั่งสินค้า โดยเน้นการผลิตเพื่อกลุ่มลูกค้าชั้นดีที่มีช่องทางการขายชัดเจนกว่าการขยายกำลังการผลิตอย่างกว้างขวาง และมีความพอประมาณในการแสวงหากำไร อาทิ ยึดหลักความเสี่ยงปานกลางเพื่อกำไรปกติ โดยให้ความเป็นธรรมต่อคู่ค้าทางธุรกิจ ผู้ถือหุ้น สังคม สิ่งแวดล้อม และพนักงาน ไม่เอาเปรียบบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ยึดถือหลักการแบ่งปันและไม่เบียดเบียนเพื่อให้คู่ค้าทางธุรกิจดำรงอยู่ได้ ทำให้คู่ค้าไว้วางใจและมีโอกาสธุรกิจใหม่มาเสนอ ขณะเดียวกันยังมีความพอประมาณในการก่อหนี้และขยายการลงทุน แม้บริษัทจะกู้ยืมเงินตราต่างประเทศในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยไม่ป้องกันความเสี่ยง ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถชำระหนี้บางส่วนได้ตามกำหนด แต่ปัจจุบันบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมดและรักษาสัดส่วนหนี้ต่อทุนไม่ให้เกิน 2

ด้านความมีเหตุมีผล บริษัทรู้จักลูกค้า รู้จักตลาด รู้จักคู่แข่ง และรู้จักตนเอง โดยเข้าใจความสามารถหลักในการผลิตเครื่องประดับบนเรือนทองคำ หรือเนื้อเงินในช่วงราคา 5-250 เหรียญสหรัฐ ทั้งยังใช้กระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพในการขยายการผลิตไปยังประเทศที่มีแรงงานถูกกว่า เพื่อรักษาการแข่งขันในตลาดล่าง ขณะที่แรงงานไทยที่มีความประณีตสูงในการเจียระไนพลอยระดับบน

นอกจากนี้ยังสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง โดยกระจายตลาดเพื่อลดความเสี่ยง ควบคุมกระบวนการจัดหาวัตถุดิบโดยให้ราคาซัพพลายเออร์อย่างเหมาะสม เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระยะยาว และสะสมเงินออมโดยมี นโยบายไม่จ่ายปันผล ไม่เกินร้อยละ 60 ของกำไรสุทธิและประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยการใช้สัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้า

ความสำเร็จของ "แพรนด้าจิวเวลรี่" เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เป็นบทพิสูจน์ในการทำธุรกิจตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่น่าจะสามารถตอบโจทย์ใครหลายคนที่กำลังจะเลือกเดินบนเส้นทางสายนี้ !!

[Original Link]