BSC เครื่องมือประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงสู่ธุรกิจ
เป้าหมายขององค์กรธุรกิจทั่วไป มักคำนึงถึงเป้าหมายในการแสวงหากำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง และใช้เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จขององค์กร แต่ที่ผ่านมาความสำเร็จจากการได้กำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงคนอื่นมักย้อนกลับมาทำลายองค์กรเสมอ จนถึงเวลาที่ธุรกิจปัจจุบันจะต้องมีกรอบแห่งการดำเนินธุรกิจที่ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับองค์กรและสังคม จึงประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับเครื่องมือในการบริหารจัดการสมัยใหม่ Balanced Scorecard เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจที่คุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือดังกล่าวในการบริหารจัดการและประเมินผลองค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
Balanced Scorecard ยังมีความโดดเด่นที่แตกต่างจากเครื่องมือในการบริหารจัดการและประเมินผลทั่วๆ ไป นอกจากมีมุมมองที่ครบ 4 ด้าน ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองทั้ง 4 ด้านด้วยกันเองในเชิงเหตุและผล ซึ่งความสัมพันธ์ในเชิงเหตุผลดังกล่าวพบได้ในองค์ประกอบความพอเพียงทั้ง 4 หมวดเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น กลุ่มแม่บ้านแห่งหนึ่งผลิตผ้าทอมือเพื่อจำหน่าย โดยมีกำลังการผลิตที่ 500 ผืนต่อเดือน โดยใช้เวลาว่างจากงานบ้านมารวมกลุ่มกันทำ อยู่มาวันหนึ่งได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ส่งออกให้ส่งผ้า 5,000 ผืนในระยะเวลา 2 เดือน ได้มีการประชุมหารือภายในกลุ่มและตกลงที่จะไม่รับผลิตตามคำสั่งซื้อดังกล่าวนอกจากผู้ว่าจ้างจะอนุญาตให้ส่งมอบได้คราวละ 500 ผืนต่อเดือนตามกำลังผลิตปกติ เนื่องจากเห็นว่าหากขาดการพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญา ซึ่งเป็นเงื่อนไขกำกับความรอบคอบต่อการต้องไปเกณฑ์คนมาเพิ่ม ก็ให้สามารถทอผ้าได้ในระยะเวลาอันสั้น และยังต้องกังวลในเรื่องคุณภาพและความสามารถในการบริหารจัดการ หรือไม่ก็ต้องไปเบียดบังเวลาปฏิบัติหน้าที่หลักในครอบครัว เสียสุขภาพเพื่อแลกกับรายได้ระยะสั้น ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในการดำเนินการผลิต ซึ่งนำไปสู่ความไม่ยั่งยืนของกิจกรรมครั้งนี้ เป็นต้น
การประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงในธุรกิจด้วยแนวคิด Balanced Scorecard จะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถเรียนรู้และปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นระบบและนำไปสู่การพัฒนาองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด
โดย "พิพัฒน์ ยอดพฤติการ"
[Original Link]